ที่มาของคุณประโยชน์ในน้ำมันปลา
น้ำมันปลาไม่ใช่น้ำมันตับปลา เป็นน้ำมันที่ได้มาจากเนื้อและหนังของปลา ในน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีกรดสำคัญที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและให้ประโยชน์อื่นแก่ร่างกายคนเราคือ- EPA (Eicosapentaenoic acid)
- DHA (docosahexaenoic acid)
กรดไขมันโอเมก้า3 ที่นำมาทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่มาจากปลาทะเลขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลาม, ปลาทูน่า, ปลาแซลมอน แต่เพราะปลาขนาดใหญ่เหล่านี้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารทางทะเล จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสะสมและปนเปื้อนสารที่เป็นพิษ
เนื่องจากน่านน้ำทะเลหลายแห่งมีสารพิษตกค้างอยู่ในปริมาณสูง และปลาที่จับได้ก็อาจมีการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ เช่น Dioxin, Methyl mercury และ polychlorinated biphenyl
ว่ากันว่าการบริโภคน้ำมันปลาสามารถให้ประโยชน์แก่ร่างกายคนเรามากมาย แต่คงมีอีกหลายๆคนที่ไม่ทราบว่า น้ำมันปลาก็ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายเราได้เช่นกัน
ทำความรู้จักนัำมันปลาให้มากขึ้น
- ช่วยลดระดับของไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride)ได้ระดับหนึ่ง,เพิ่มระดับของ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL Cholesterol) หรือไขมันที่ดี แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังมีผลไปเพิ่มไขมัน แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL) ให้สูงตามมาด้วย
- โรคหลอดเลือดสมองประกอบไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ เส้นเลือดสมองตีบ แตกและอุดตัน การกินน้ำมันปลาอาจจะมีผลดีต่อการลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกได้มากขึ้นเช่นกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำว่าควรกินหรือไม่และในปริมาณเท่าใด
- DHA ในกรดไขมันโอเมก้า ช่วยเสริมสร้างระบบเซลล์สมองและระบบประสาทเพื่อเพิ่มความสามารถในการสื่อสารของเด็กทารกจนถึงอายุประมาณ 5 ปีเท่านั้น
จากการวิจัยพบว่าน้ำมันปลามีส่วนช่วยให้มีความจำได้ดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ไม่ใช่สารที่จะช่วยให้เด็กเกิดความฉลาดมากกว่าปกติแต่อย่างใด
การได้รับสารอาหารครบทุกหมู่และการสร้างสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม จึงจะสามารถกระตุ้นให้เด็กสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผล - น้ำมันปลาถูกขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร หากจะบริโภคเพื่อการรักษาต้องรับประทานในปริมาณสูงมาก ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดพิษต่อร่างกาย หรืออาจมีสารพิษตกค้าง เนื่องจากภาวะมลพิษทางทะเลในถิ่นที่ปลาซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบอาศัยอยู่
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการกินน้ำมันปลา
Bad effects of taking too much Fish oil
- การเกิดเลือดออก เนื่องจากน้ำมันปลาสามารถลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด จึงส่งผลดีในกรณีโรคหัวใจทำให้เลือดใสขึ้น แต่อาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า และหยุดไหลยาก เพราะเลือดที่ใสจนเกินไป ทำให้แผลหายช้า และเลือดไหลออกนาน ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด หรือ หญิงใกล้คลอดควรงดการทานน้ำมันปลา อย่างน้อยประมาณ 1 เดือน
- การได้รับน้ำมันปลาที่มี omega-3 มากเกินกว่า 3 กรัมต่อวัน สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในคนไข้ที่ระบบหลอดเลือดอ่อนแออยู่แล้ว มีโอกาสที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองแตกได้ และอาจทำให้เกิดเลือดกำเดาได้ง่ายหรือมีเลือดออกปนออกมากับปัสสาวะจากการทดลองพบผลเสียจากการรับประทานน้ำมันปลาคือ เกิดเลือดกำเดาไหลไม่หยุด ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากน้ำมันปลาทำให้เกิดสภาวะขาดวิตามินอี
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรรับประทานน้ำมันปลา เพราะพบรายงานที่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดปัญหากับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (non-insulin dependent diabetes mellitus)
- ความดันโลหิตลดลง ผลต่อระบบเลือดที่กล่าวมาทั้งหมด หากคุณเป็นคนที่มีภาวะความดันต่ำอยู่แล้ว หรือได้รับยาลดความดันควบคู่ไปด้วย ต้องให้ความใส่ใจในผลของน้ำมันปลาที่อาจทำให้เกิดภาวะความดันต่ำได้
- น้ำมันปลาถูกขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร หากจะบริโภคเพื่อการรักษาต้องรับประทานในปริมาณสูงมาก อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษที่ตกค้างในปลาโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังมีการพัฒนาระบบกำจัดของเสียยังไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษเหล่านี้ จนเด็กๆแสดงอาการออกมาได้ และในหญิงตั้งครรภ์ หากได้รับสารพิษเหล่านี้จะส่งผลเสียโดยตรงต่อทารกในครรภ์
- การกินน้ำมันปลาเดี่ยวๆอาจไม่ให้ผลดีโดยรวมต่อเรื่องไขมันในเลือดแต่อย่างใด โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง เพื่อความปลอดภัยควรพบแพทย์และใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆเพื่อควบคุมอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดเสียก่อน แล้วเลือกใช้น้ำมันปลาเป็นอาหารเสริมเพิ่มเติมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
วิธีเลือกซื้อน้ำมันปลา
- ควรเลือกแหล่งที่มาจากธรรมชาติเช่นผลิตจากปลาทะเล มีการตรวจสอบถึงความเข้มข้นของกรดไขมันที่เราต้องการ รวมทั้งปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจติดมาด้วย
- ปริมาณของ DHA รวม EPA ต้องมีมากกว่า 20% เช่น ใน 1 บรรจุภัณฑ์หนึ่งหน่วยหนัก 525 mg ต้องมี DHA 60mg และ EPA 80mg เพราะบางแบรนด์มีน้ำหนักบรรจุ 1000mg/เม็ด แต่ปริมาณ DHA น้อยมาก ที่เหลือเป็นแป้งและส่วนผสมที่นำมาทำให้เป็นเม็ดแคบซูล
- สัดส่วนปริมาณของ DHA : EPA ที่เหมาะสม คือ 1:2 หรือ 2:3 จึงเป็นส่วนผสมที่ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา ที่มีรูปแบบเป็น Soft gel ปิดสนิทจะช่วยปกป้องไม่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวข้างในให้เกิดการสลายตัวได้ดีกว่าแบบบรรจุในแคปซูลแข็ง ซึ่งมีโอกาสเกิดรอยรั่วตรงขอบแคปซูล เมื่ออากาศเข้าไปจะเกิดการออกซิไดซ์ ทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวสลายตัวคุณค่าที่มีประโยชน์ลดลง
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวนั้นสลายตัวง่าย จึงมีการเพิ่มวิตามิน E ในน้ำมันปลา เพราะวิตามิน E ทำหน้าที่เป็น Antioxidant ช่วยคงสภาพคุณประโยชน์ของกรดไขมันให้นานขึ้น
แหล่งข้อมูล:
- Fish oil,www.wikipedia.org/
- วาทิต ศาสตระวาทิต,งานวิจัยเภสัชอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ, www.gpo.or.th/rdi
- วินัย ดะห์ลัน กรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า-3 บทบาทใหม่ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม รายงานประจำปี 2538 - 2539 สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย
- สมพงษ์ สหพงศ์ น้ำมันปลา น้ำมันลดไขมัน, พิมพ์ครั้งที่ 4, สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, กรุงเทพฯ กรกฎาคม 2538
- เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,http://www.oknation.net/blog
Bad effects of taking too much Fish oil
1 comments:
ขอบคุณความรู้ดีๆค่ะ
แสดงความคิดเห็น