7/30/2556

โรคสะเก็ดเงิน Psoriasis


โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สาเหตุที่โรคผิวหนังชนิดนี้ถูกเรียกว่า สะเก็ดเงิน เกิดจากลักษณะของผื่นที่ มักจะมี "ขุย" หรือ "สะเก็ด" เป็นสีขาว ถ้ามีสะเก็ดหนามากจะดูวาว ๆ เมื่ออยู่กลางแจ้งที่มีแสงแดด จะเห็นรอยผื่นเป็นสีเงิน

ผื่นของสะเก็ดเงินขึ้นได้ทุกแห่งทั่วร่างกาย เป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง (Erythematous plaque) และมักซ่อนอยู่บริเวณผิวหนัง ที่ไม่ได้รับแสงแดดเป็นประจำ หรือบริเวณที่มีการกระทบ เสียดสี หรือ กดทับ เช่น ข้อศอก หัวเข่า หลังส่วนล่าง และหนังศรีษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเสื้อผ้า หรือ ผมปกคลุมอยู่ อาจพบการขึ้นที่เล็บในผู้ป่วยบางคน และ สะเก็ดเงินที่เล็บก็มีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่ว่าเกิดตรงส่วนใดของเล็บ ซึ่งอาจพบว่า เล็บเป็นหลุมๆ ขนาดเล็ก

โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุุเดียว ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค, สารเคมี หรือ สภาวะทางฟิสิกส์ที่เป็นพิษต่อผิวหนังโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือ ยีนส์ที่ผิดปกติหลายชนิดร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ไม่เหมาะสมมากระตุ้นให้โรคปรากฏขึ้น

ด้วยความที่โรค สะเก็ดเงิน นี้ เห็นได้ชัดเจน ทำให้หลายๆ คนกลัว แต่อันที่จริงแล้ว โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะการเป็นสะเก็ดเงิน ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ดังนั้นการใช้ชีวิตในบ้านเดียวกัน การท่องเที่ยวด้วยกัน, การทานน้ำแก้วเดียวกัน ทำงานในออฟฟิสเดียวกัน หรือว่ายน้ำในสระเดียวกัน กับผู้ที่เป็นสะเก็ดเงิน ก็ไม่มีผลให้เป็นสะเก็ดเงินได้

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินอาจมีอาการทางข้อร่วมด้วย เหมือนการเป็นผื่นผิวหนังอื่นๆ และอาการเริ่มแรก ของข้ออักเสบสะเก็ดเงิน คือ มีอาการตึง หรือ ข้อแข็งตอนตื่นนอนตอนเช้า (Morning Stiffness) มีอาการปวดข้อ, ข้อติด, บวมและปวดรอบข้อ การเคลื่อนไหวของข้อลดลง, มีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บ, เยื่อบุตาอักเสบ, ตาแดง และข้ออักเสบที่พบบ่อย คือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า

ลักษณะของข้ออักเสบที่พบบ่อยมีด้วยกัน 5 ลักษณะดังนี้
  1. Symmetric Arthritis
    หมายถึงการอักเสบของข้อที่เป็นเหมือนกันทั้งสองข้าง เป็นหลายข้อ อาการเหมือนกับโรค rheumatoid ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยข้ออักเสบจะเป็นมากขึ้นจนกระทั่งพิการ
  2. Asymmetric Arthritis
    ข้อที่อักเสบมักเป็น 1-3 ข้อเป็นด้านใดด้านหนึ่งมักเป็นข้อใหญ่เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ข้อมือ บางรายอาจจะเป็นที่นิ้วมือ
  3. Distal Interphalangeal Predominant (DIP) เป็นข้อที่ติดกับเล็บมักจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บร่วมด้วย
  4. Spondylitis มีการอักเสบของกระดูกสันหลังทำให้มีอาการข้อติดของคอ หลังและกระดูกสะโพก ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวแล้วปวด
  5. Arthritis Mutilans มักเป็นข้อเล็กและมีการทำลายของข้อทำให้ข้อผิดรูป

ชนิดของสะเก็ดเงินสามารถแบ่งตามลักษณะผื่นดังนี้

  1. Plaque
    โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้พบบ่อยที่สุด ลักษณะจะเป็นผิวหนังที่มีผื่นแดง นูนหนามีขอบชัดเจน บนผื่นจะมีสะเก็ดขาวเหมือนเงินอยู่บนผื่น สะเก็ดนี้เป็นเซลล์ผิวหนังซึ่งตายแล้ว ผิวหนังบริเวณผื่นมักจะแห้ง คัน และเกิดเป็นแผลได้ง่ายแพทย์เรียกชนิดนี้ว่า psoriasis vulgaris
  2. Guttatee
    ลักษณะผื่นจะเหมือนรูปหยดน้ำเล็กๆเป็นหยดๆสีแดง ผื่นนี้จะพบมากบริเวณลำตัวและแขนขา ผื่นจะไม่หนาเหมือนกับชนิด plaque มักจะพบในเด็กและวัยรุ่น โดยมีการติดเชื้อของผิวหนังเป็นตัวกระตุ้น
  3. Inverse
    สะเก็ดเงินชนิดนี้มักจะพบในคนอ้วนที่มีเหงื่อออกมาก และมีการระคายเคืองเราอาจจะเรียกว่า Inverse psoriasis, หรือflexural psoriasis มักพบบริเวณข้อพับเช่นขาหนีบ รักแร้ เต้านม ก้นลักษณะผื่นจะราบเรียบมีการอักเสบแดง ผิวแห้ง ไม่มีขุยและหนาตัวเหมือนชนิดplaque
  4. Erythrodermic
    เป็นการอักเสบของสะเก็ดเงินเป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินที่ผื่นสะเก็ดเงินหลุดง่าย ผื่นชนิดนี้จะมีลักษณะแดงกระจายไปทั่ว และมักจะมีอาการบวมปวด และคันร่วมด้วย
  5. Generalized Pustular
    ผื่นสะเก็ดเงินจะแดงทั่วไปมีอาการบวม และปวดจะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นตุ่มหนองนี้มิใช่เกิดจากการติดเชื้อ เมื่อแผลแห้งแล้วก็กลับมาเป็นหนองได้อีกเรียกว่าZumbusch pustular psoriasis
  6. Localized Pustular
    เป็นตุ่มหนองที่เกิดเฉพาะบริเวณมือและเท้า จะมีลักษณะเป็นตุ่มหนองขนาดครึ่งเซนติเมตรอยู่บนผื่นที่มือ และเท้า

สิ่งที่พึงระวังสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

  • ไม่ควรสูบบุหรี่
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะอาจส่งผลให้สะเก็ดเงิน เห่อ มากขึ้น
  • พึงหลีกเลี่ยงการซื้อยามาทานเอง เพราะยาหม้อ ยาจีน บางชนิดมีส่วนผสมของเสตียรอยด์ ซึ่งอาจทำให้โรคสะเก็ดเงินสงบได้ในระยะแรกๆ ที่ได้รับยา แต่นานวันอาจส่งผลข้างเคียงสูง เช่นทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง ความดันสูง กระดูกผุ
  • ยาบางชนิด เมื่อทานแล้วอาจทำให้สะเก็ดเงินกำเริบ หรือ ทำให้รักษาได้ยากขึ้น เช่น ยารักษาโรคหัวใจ, ความดัน, ยาแก้อักเสบบางชนิด รวมถึง ยารักษาโรคซึมเศร้าบางตัว
  • ไม่ควรแกะ,เกา เพราะโรคสะเก็ดเงินนี้ ถ้าผิวหนังที่ไม่มีผื่นอยู่ก่อน โดนรบกวน หรือเกิดการอักเสบ อาจทำให้เกิดผื่นสะเก็ดเงินขึ้นได้
  • พยายามลดความเครียด
  • นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก
  • ระมัดระวังไม่ให้ท้องผูก 
  • สังเกตุและระมัดระวังอาหาร ที่เคยทำให้เกิดผื่นมากขึ้น
  • รักษาน้ำหนัก, ควรทานอาหารที่ให้พลังงานหรือแคลอรี่ต่ำ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจำนวนมาก มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น ความดันหรือไขมันในโลหินสูง, เบาหวาน, โรคหัวใจ รวมถึง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ไม่ควรแกะสะเก็ดที่ขึ้นบนหนังศรีษะ เพราะอาจเป็นสาเหตุ ให้ผมร่วงมากขึ้น

อาหาร และแสงแดด มีผลต่อผู้ป่วยโรคสะเก็ดอย่างไร

  • ปลา, น้ำมันปลา มีงานวิจัยเรื่องการกินปลาหรือน้ำมันปลา กับโรคสะเก็ดเงินเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่บอกว่าทำให้หาย แต่พบว่าการกินปลาให้ประโยชน์ในทางรักษา

  • ผัก-ผลไม้มีสี เช่น ฝักทอง, มะเขือเทศ, แครอท, มะละกอ หรือฝักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง, คะน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งของสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเชื่อว่าให้ผลดีกับการรักษาสะเก็ดเงิน

  • สะเก็ดเงินเป็นโรคหนึ่งที่เมื่อได้รับแสงแดด ผื่นมักมีอาการดีขึ้นมาก จึงมักพบผื่นสะเก็ดเงินซ่อนอยู่ในร่มผ้า แต่ร่างกายส่วนที่ถูกแสงแดดประจำ มักไม่ค่อยมีผื่นแสดงให้เห็น

การรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบัน

  1. หากผื่นไม่มาก การใช้ยาทา เป็นวิธีที่ปลอดภัยและ ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ถ้าผื่นเป็นที่หลังหรือหนังศรีษะ การใช้ยาทา จึงอาจไม่สะดวกนัก

  2. อาจใช้การฉายรังสียูวี ต้องเข้าใจก่อนว่ารังสียูวีไม่ใช่รังสีที่รักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นแสงแดดเทียม ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาการเดินทาง

  3. การรับประทานยา เช่น เมทโธเทร็กเสท (Metho-trexate) หรือ กลุ่มวิตามินเอ

  4. การฉีดยา ซึ่งให้ผลดีกับข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthrittis) แต่ค่อนข้างมีราคาแพง อาจมีค่าใช้จ่ายเกือบล้านต่อปีทีเดียว
อย่างไรก็ตามแม้ในปัจจุบันมียารักษา แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุด ที่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ ผื่นอาจจะสงบได้ระยะหนึ่ง และอาจกลับมาเป็นใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการดูแล จากแพทย์โรคผิวหนัง และหากมีอาการข้ออักเสบ ก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคข้อ ควบคู่กันไป

credit: นพ.ประวิตร อัศวานนท์
บทความโรคสะเก็ดเงินจากหนังสือที่ระลึกในวาระครบรอบ 36 ปี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
http://www.si.mahidol.ac.th
http://www.siamhealth.net
Continue reading...
 

To live healthy Copyright © 2009 Cosmetic Girl Designed by Ipietoon | In Collaboration with FIFA
Girl Illustration Copyrighted to Dapino Colada