Osteoporosis หรือ โรคกระดูกพรุน
หมายถึง โรคที่เกิดจากความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงเรื่อยๆและเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างภายในกระดูก กระดูกเปราะบางลง เนื้อกระดูกจะมีรูพรุนเหมือนฟองน้ำ ทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้เหมือนปกติ กระดูกจะหักได้ง่ายกว่าปกติ
โรคกระดูกพรุน นับได้ว่าเป็นมหันต์ภัยเงียบ บางคนก็เรียกโรคนี้ว่าโรคกระดูกผุ หรือ โรคกระดูกบาง อาการที่กระดูกบางลงเรื่อยๆ นั้น เกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่เราไม่รู้ตัว บ่อยครั้งที่ผู้ที่มีเป็นโรคกระดูกพรุน กว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการของโรคกระดูกพรุน กระดูกก็หักไปแล้ว
โรคกระดูกพรุน พบมากในผู้สูงอายุ และจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ด้วยสาเหตุ ที่ผู้หญิงมีมวลกระดูกน้อยกว่าผู้ชาย และโดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ระดับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ลดระดับอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการสลายของกระดูกเพิ่มขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงอย่างมาก เมื่ออายุมากขึ้นจึงมีโอกาสกระดูกหักเพิ่มสูงขึ้นด้วย
อาการต่างๆ ที่เกิดจากการเป็นโรคกระดูกพรุน คือ การทรุดตัวหรือยุบตัว ของกระดูกสันหลัง อาจทำให้หลังโก่ง กระดูกสันหลังคดงอผิดรูป หรือเกิดการหักของกระดูก เช่น การหักของกระดูกสะโพก, กระดูกต้นขา, กระดูกข้อมือ ฯลฯ
โรคกระดูกพรุน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นทางออกที่ที่สุด ธรรมชาติของกระดูกจะมีการสร้างและสลายอยู่ตลอดเวลา ในวัยเด็ก กระดูกจะมีการสร้างมากกว่าการสลาย ร่างกายจึงมีการสะสมแคลเซียม ได้มากพอ จนเมื่ออายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มมีการสลายแคลเซียมจากกระดูกมากขึ้น ทำให้เนื้อกระดูกเริ่มลดลง หากร่างกายไม่ได้รับแคลเซียม อย่างเพียงพอ กระดูกจะบางลงจนเกิดอาการกระดูกพุรน
นอกจากนี้โรคกระดูกพรุน ยังอาจพบในคนที่ สูบบุหรี่จัด, ดื่มสุราหนัก, ขาดการออกกำลังกาย, ทานยาประเภทเสตียลอยด์, คนที่เป็นโรคมะเร็งที่กระดูก หรือ มีฮอร์โมนที่ผิดปกติ
ตารางผลการตรวจ BMD (ความหนาแน่นกระดูก) ตาม WHO (องค์การอนามัยโลก)
ภาวะ | ค่าความหนาแน่นกระดูก - BMD T-Score (SD) |
กระดูกปกติ | มากกว่า -1 |
กระดูกบาง (Osteopenia) | น้อยกว่า -1 ถึง มากกว่า -2.5 |
กระดูกพรุน (Osteoporosis) | น้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 |
กระดูกพรุนอย่างรุนแรง (Severe Osteoporosis) | น้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 และมีกระดูกหักร่วมด้วย |
0 comments:
แสดงความคิดเห็น